รำวงมาตรฐานมีวิวัฒนาการมาจากการรำโทน
จะไม่มีท่ารำกำหนดตายตัว และบทร้องมีหลายลักษณะ เริ่มตั้งแต่บทชมโฉม
บทเกี้ยวพาราสี เป็นต้น ต่อมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
ประชาชนในกรุงเทพมหานครนิยมเล่นกันมาก รัฐบาลโดย ฯพณฯ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม
จึงได้พัฒนาศิลปะการเล่นรำโทน ให้มีระเบียบแบบแผนตามแบบนาฏศิลป์ไทย
โดยได้มอบให้กรมศิลปากรปรับปรุงการเล่นรำโทนขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2478
และได้คิดบทร้องขึ้นใหม่ 4 บท คือ เพลงงามแสงเดือน เพลงชาวไทย เพลงมาซิมารำ
และเพลงคืนเดือนหงาย โดยผู้คิดบทร้องคือ จหมื่นมานิตย์ นเรศ (เฉลิม เศวตนันท์)
และผู้ปรับปรุงทำนองเพลงคือ อาจารย์มนตรี ตราโมท ผู้ประดิษฐ์ท่ารำคือหม่อมต่วน
อาจารย์มัลลี คงประภัทร์ และอาจารย์ลมุล ยมะคุปต์ ต่อมาท่านผู้หญิงละเอียด
พิบูลสงคราม ได้แต่งบทร้องขึ้นใหม่อีก 6 บท คือ เพลงดอกไม้ของชาติ
เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ เพลงบูชานักรบ เพลงหญิงไทยใจงาม เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า
และเพลงยอดชายใจหาญ ซึ่งต่อมากรมศิลปากร ได้เปลี่ยนชื่อเรียกจากเพลง "รำโทน"
มาเป็นชื่อ "รำวงมาตรฐาน" ท่ารำที่ใช้จะเป็นท่ารำต่างๆในแม่บทนาฏศิลป์ไทย
ที่นำมาใส่ไว้ในแต่ละเพลง มีท่ารำประจำไม่ปะปนกัน วิธีเล่นจะเล่นแบบระบำหมู่
โดยหญิงชายหลายๆคู่ การรำต้องมีความพร้อมเพรียงกัน ก่อนจะเริ่มรำหญิง
และชายจะต้องทำความเคารพกัน และตามด้วยดนตรีที่จะนำขึ้นก่อน 1 วรรค
เพื่อให้ผู้รำตั้งต้นจังหวะได้พร้อมเพรียงกัน
|