
ฟ้อน มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า เต้น ระบำ รำ เซิ้ง
ซึ่งเป็นท่วงทีลีลาแห่งนาฏศิลป์ไทย คำว่า "ฟ้อน"
มักจะมีขอบเขตของการใช้เรียกศิลปะการแสดงลีลาท่าทางเฉพาะของท้องถิ่นลานนา
ประเภทของการฟ้อนในลานนา
ศิลปะการแสดง "ฟ้อน"
ในลานนานั้น มีลักษณะเป็นศิลปะที่ผสมกันโดยสืบทอดมาจากศิลปะของชนชาติต่างๆ
ที่มีการก่อตั้งชุมชนอาศัยอยู่ในอาณาเขตลานนานี้มาช้านาน
นอกจากนี้ยังมีลักษณะของการรับอิทธิพลจากศิลปะของชนชาติที่อยู่ใกล้เคียงกันด้วย
จากการพิจารณาศิลปะการฟ้อนที่ปรากฏในลานนายุคปัจจุบัน ท่านอาจารย์ทรงศักดิ์
ปรางค์วัฒนากุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แบ่งการฟ้อนออกเป็น ๕ ประเภท ดังนี้
๑.
ฟ้อนที่สืบเนื่องมาจากการนับถือผี
เป็นการฟ้อนที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อถือ และพิธีกรรม ได้แก่ ฟ้อนผีมด
ผีเม็ง ฟ้อนผีบ้านผีเมือง เป็นต้น
๒. ฟ้อนแบบเมือง
หมายถึงศิลปะการฟ้อน ที่มีลีลาแสดงลักษณะเป็นแบบฉบับของ "คนเมือง" หรือ
"ชาวไทยยวน" ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่เป็นปึกแผ่นในแว่นแคว้น
"ลานนา" นี้ การฟ้อนประเภทนี้ ได้แก่ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบ
เป็นต้น
๓. ฟ้อนแบบม่าน คำว่า
"ม่าน" ในภาษาลานนา หมายถึง "พม่า"
การฟ้อนประเภทนี้เป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะการฟ้อนของพม่ากับของไทยลานนา
ได้แก่ ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา
๔.
ฟ้อนแบบเงี้ยวหรือไทยใหญ่ หมายถึง
การฟ้อนที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะการแสดงของชาวไทยใหญ่
(คนไทยลานนามักเรียกชาวไทยใหญ่ว่า "เงี้ยว"
ในขณะที่ชาวไทยใหญ่มักเรียกตนเองว่า "ไต") ได้แก่ การฟ้อนไต ฟ้อนเงี้ยว
กิ่งกะหร่า (กินราหรือฟ้อนนางนก) เป็นต้น
๕.
ฟ้อนที่ปรากฏในการแสดงละคร
การฟ้อนประเภทนี้เป็นการฟ้อนที่มีผู้คิดสร้างสรรค์ขึ้นในการแสดงละครพันทาง
ซึ่งนิยมกันในราวสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้แก่ ฟ้อนน้อยใจยา ฟ้อนลาวแพน
ฟ้อนม่านมงคล เป็นต้น |